HangDong เทศบาลตำบลหางดง www.hangdong.go.th
“สังคมน่าอยู่อาศัย ก้าวไกลทางเศรษฐกิจ”

เทศบาลตำบลหางดง

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตเทศบาลตำบลหางดง

สถานที่ท่องเที่ยวในเขตเทศบาลตำบลหางดง

ประกาศเมื่อ 25 พฤษภาคม 2564

เปิดอ่าน 1935 ครั้ง

 

        1. ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแบบผสมผสานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเทศบาลตำบลหางดง 

               ก่อสร้างขึ้น ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการสร้างเสริมสุขภาพและส่งเสริมให้ประชาชน หันมาสนใจการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งเป็นการ ออกกำลังกายที่มีรูปแบบหลากหลาย ด้วยทุนการก่อสร้าง จำนวน 13,815,500 บาท ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ตำบลหางดง บริเวณเดียวกับสนามกีฬาเทศบาลตำบลหางดง ภายในอาคารประกอบด้วย สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน ห้องฟิตเนส ห้องโยคะ ห้องอบซาวน่า และห้องนวดแผนโบราณ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ปัจจุบันให้บริการเยาวชน ประชาชน ในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่า 5,000 คน

               นอกจากจะให้บริการเยาวชน ประชาชน ในท้องถิ่นและพื้นที่อำเภอหางดงแล้ว คณะผู้บริหารยังสนับสนุนให้มีกิจกรรมดีๆที่ช่วยส่งเสริมการออกกำลังกาย และเพิ่มโอกาสให้เยาวชน ประชาชนผู้สนใจในการออกกำลังกายได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ อาทิเช่นโครงการฝึกสอนว่ายน้ำ โดยบุคลากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ด้านการกีฬาของเทศบาลตำบลหางดง และการฝึกสอนการเล่นโยคะ จากครูผู้สอนที่มีทักษะและความชำนาญ เป็นผู้มีจิตอาสาเสียสละเวลามาสอน นอกจากนั้นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแบบผสมผสานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งนี้ยังเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาประเภทว่ายน้ำ ในการแข่งขันกีฬาระดับอำเภอ เช่น กีฬาท้องถิ่นหางดงเกมส์ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้ที่มีความสามารถในด้านกีฬาว่ายน้ำและได้มีเวทีแสดงความสามารถและหาประสบการณ์อันจะก้าวไปสู่การเป็นนักกีฬาระดับชาติในอนาคต

          2. วัดกำแพงงาม

               ตั้งอยู่ เลขที่ 26 หมู่ที่ 3 ต.หางดง สร้างเมื่อพ.ศ. 2300 ตามประวัติแจ้งว่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2277 เดิมชื่อว่า วัดสันกำแพงงาม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร  ยาว 80 เมตร นอกจากนั้นแล้ว ภายในวัดกำแพงงาม ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนหางดงสังฆราษฏร์อุปถัมภ์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปีพ.ศ.2539 ในสังกัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี 

โบราณสถานที่สำคัญภายในวัด  อาคารเสนาสนะประกอบด้วย 

วิหาร                              ไม่ปรากฏปีที่สร้าง                                

อุโบสถ                            พ.ศ. 2494  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา                                              

                                    พ.ศ. 2495  ได้รับพระราชทานให้เป็นเขตพัทธสีมา    

เจดีย์                              ไม่ปรากฏปีที่สร้าง

กุฎิสงฆ์                            ไม่ปรากฏปีที่สร้าง

ศาลาการเปรียญ                  ไม่ปรากฏปีที่สร้าง

ศาลาบำเพ็ญกุศลศพ             ไม่ปรากฏปีที่สร้าง

 

โบราณวัตถุภายในวัด

          พระพุทธรูป ประดิษฐานในวิหารของวัดเป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านต่างให้ความเคารพนับถือ เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนมีอายุเก่าแก่มาก นอกจากนั้นยังมี “หลวงพ่อตนหลวงดวงดีมั่งมีทันใจ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวิหารเชื่อกันว่าหากใครได้มานมัสการขอพรจะประสบความสำเร็จและมั่งมีศรีสุขในชีวิต

          3. วัดทรายมูล     

               ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ต.หางดง วัดทรายมูลสร้างเมื่อ พ.ศ. 2450 ตามประวัติไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้างขึ้น เพียงแต่บอกว่า สร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 100 ปี ภายในวัดมีแต่หินและหลุมทรายเป็นหลุมๆ กับก้อนหินและก้อนกรวด เวลานั้นเรียกว่า “วัดมงคลหลุมดอยไชย” 

               ต่อมาเมื่อพ.ศ.2327 ได้มีพระนันทไชยเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ในวิหารร่วมกับแสนใหม่และท้าวลือโลก พร้อมด้วยคณะศรัทธาในขณะนั้นเป็นผู้อุปถัมภ์พระสงฆ์ทั้งปวงในสมัยนั้นได้บัญญัติไว้ว่าเป็น “วัดทรายมูล” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2327 เป็นต้นมา

สิ่งสำคัญภายในวัด                                        

  1. วิหารพื้นเมืองแบบล้านนา ถึงแม้ว่าค่อนข้างทรุดโทรมไปมากแล้ว แต่ลายเมฆที่แกะสลักไม้ประดับนับว่ามีความงดงามแห่งหนึ่ง
  2. ครุฑไม้กางปีก ชนิดไม้แกะสลักทาสี ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่25 สูง 107 เซนติเมตร
  3. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ชนิดสำริดทาชาดปิดทอง ศิลปะล้านนาพุทธศตวรรษที่25 หน้าตักกว้าง 20 เซนติเมตร ฐานกว้าง 23.5 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร (มีอักษรจารึกระบุ จ.ศ. 2188)      
  4. มณฑปตั้งพระบรมสารีริกธาตุ(ปราสาท) ชนิดไม้สลักทาชาดเขียนลายทองประดับกระจก ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่25 ฐานกว้าง 59 เซนติเมตรสูง 300 เซนติเมตร (มีอักษรจารึกด้านข้าง)

วัดทรายมูล จึงเป็นวัดที่มีความสำคัญและชาวหางดงให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง อีกแห่งหนึ่งของอำเภอหางดง

          4. วัดประสาทธรรม

               ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.หางดง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2309 เดิมชื่อ “วัดศรีดอนตอง”(สะหรีดอนตอง) ตั้งอยู่บนฝั่งน้ำเหมืองจ๋อมตอง ซึ่งเป็นลำธารเล็กๆ อยู่ทางทิศใต้ ของวัดประสาทธรรม (แม่ขัก) ต่อมาได้เกิดเหตุน้ำป่าไหลบ่า ทำให้แม่น้ำหลายสายเปลี่ยนทิศทาง น้ำป่าได้กัดเซาะตลิ่งพังลงมาเรื่อยๆคำโบราณเรียกว่า (น้ำควากหรือน้ำขวั๋ก) จนมาถึงวัดศรีดอนตอง น้ำได้เซาะตลิ่ง (ดันเหมือง) พังลงทำให้กำแพงวัดด้านตะวันตกเฉียงใต้และด้านใต้ ตลอดถึงศาลาด้านใต้ได้พังลงทั้งแถบเกือบครึ่งหนึ่งของเนื้อที่วัด จึงได้เปลี่ยนชื่อน้ำเหมืองจ๋อมตองเป็นน้ำแม่ขวั๋ก เมื่อวัดพังลงเช่นนั้นคณะศรัทธาชาวบ้านและครูบาเจ้าอาวาสจึงได้ช่วยกันย้ายวัดขึ้นมาทางเหนือและมาพักทำเป็นอารามอยู่ที่กลางบ้านใกล้กับต้นโพธิ์ใหญ่และได้ตั้งชื่ออารามใหม่ว่า อารามแม่ขวั๋ก ตามชื่อแม่น้ำแม่ขวั๋ก และเรียกชื่อบ้านว่า “บ้านแม่ขวั๋ก”

               เนื่องจากอารามแม่ขวั๋กนี้มีเนื้อที่คับแคบมาก ชาวบ้านจึงได้ไปสร้างโบสถ์ไว้ที่ป่าละเมาะใกล้กับหนองน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดประมาณ 1 กิโลเมตร เรียกว่า โบสถ์ร้องอึ่ง และเมื่อมีการตัดถนนสายใหม่ผ่านอารามแห่งนี้ จึงได้มีการย้ายวัดขึ้นมาทางเหนืออีกครั้ง และเมื่อพบที่ว่างเปล่าชาวบ้านได้ช่วยกันเผ้าถางและสร้างวัดขึ้น เรียกว่า "วัดแม่ขวั๋ก" และได้ปลูกต้นโพธิ์ไว้ 5 ต้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์โดยปลูกไว้หน้าวัด 3 ต้น หลังวัด 2 ต้น แต่ทางหลังวัดตายไป 1 ต้น และตามที่ได้สันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่นั้นก็เพราะมีผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยบวชเณรอยู่ที่วัดนี้และพบพระพุทธรูปไม้สักองค์เล็ก ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายในสมัยนั้น โดยสันนิษฐานจากรอยจารึกที่ฐานพระจารึกจุลศักราชไว้ คือ จุลศักราช 1128 หรือ พ.ศ. 2309 นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่พอสมควรแต่เป็นที่น่าเสียดาย พระพุทธรูปองค์เล็กๆ เหล่านั้นได้ถูกปลวกกัดกินทำลายไปหมดแล้ว

               ต่อมาคำว่า แม่ขวั๋ก นั้นก็ได้เพี้ยนจากเดิมเป็น แม่ขัก เนื่องจากชื่อเดิมอาจจะเรียกยากหรือเขียนยาก และในปี พ.ศ. 2485 กรมการศาสนาได้เปลี่ยนและตั้งชื่อวัดใหม่หลายวัด วัดแม่ขักจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดประสาทธรรม” ส่วนแม่ขักนั้นตัดออกไปแต่ชาวบ้าน ให้คงชื่อเดิมไว้จึงวงเล็บไว้ตรงท้ายว่า (แม่ขัก)

          5. ตลาดสดเทศบาลตำบลหางดง

              เป็นตลาดเก่าแก่ของอำเภอหางดง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 โดยหลวงนรพาล (นายอำเภอหางดงในสมัยนั้น) เดิมเป็นตลาดเล็กๆ ตั้งอยู่บริเวณห้องสมุดประชาชนอำเภอหางดง แต่เนื่องจากพื้นที่มีความคับแคบ ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 จึงได้ย้ายตลาดมายังฝั่งตรงข้ามในปัจจุบัน ใช้ชื่อว่า “ตลาดสุขาภิบาลหางดง” และเมื่อมีการยกฐานะสุขาภิบาล ขึ้นเป็นเทศบาล เมื่อ 24 พฤษภาคม 2542 ตลาดหางดง จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ตลาดสดเทศบาลตำบลหางดง”

               ตลาดสดเทศบาลตำบลหางดง ถือว่าเป็นวิถีชีวิตหนึ่งของคนหางดง เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นตลาดสดท้ายสุดที่มีสินค้าครบครัน ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปยังดอยอินทนนท์ โดยมีผู้ประกอบการ ที่ขายสินค้าหลายประเภท ทั้ง อาหาร เสื้อผ้า เครื่องอุปโภค บริโภค ฯลฯ ตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ ประมาณ 500 ราย และมีผู้มาจับจ่ายสินค้าและนักท่องเที่ยว เดินทางมาตลาดสดแห่งนี้ ต่อวันกว่า 1.000 ราย นอกจากที่นี่จะเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญของอำเภอหางดงแล้ว ยังมีความน่าสนใจในเรื่องของอาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็น ผักพื้นบ้าน หน่อไม้ ไข่มดแดง เห็ดต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ลองลิ้มชิมรส และสัมผัสถึงวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนหางดงอย่างใกล้ชิด

            นอกจากนั้น เทศบาลตำบลหางดง ยังได้พัฒนาตลาดสดเทศบาลตำบลหางดงในทุกๆด้านให้ถูกสุขลักษณะ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงสภาพทั่วไปของตลาดสดให้มีความทันสมัย มั่นคง แข็งแรง และสะดวกสบายต่อผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงรางระบายน้ำ ภายในบริเวณตลาดสด การปรับปรุงซ่อมแซมหลังคาอาคารขายสินค้าให้มีแสงสว่างมากยิ่งขึ้น การจัดให้มีห้องน้ำสะอาด ปลอดภัย ไว้อำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการ รวมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ การติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อช่วยในเรื่องความปลอดภัยของทรัพย์สินประชาชน เป็นต้น

               ดังนั้น ตลาดสดเทศบาลตำบลหางดง จึงเป็นแหล่งขายสินค้าที่เป็นหน้าเป็นตาของชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งทำมาหากินและสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนชาวหางดง เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังมีการนำหลักธรรมาภิบาล ด้านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมาปฏิบัติจนเป็นรูปธรรม ทำให้ตลาดสดเทศบาลตำบลหางดง ได้รับรางวัลตลาดสดดีเด่น จากกระทรวงพาณิชย์ ปี 2548  รางวัลตลาดสดดีมีมาตรฐาน จากกระทรวงมหาดไทย ปี 2549-2551 และรางวัลตลาดสดน่าซื้อ จากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2551 ถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น